เทคนิค 3 ใจ สู่การเป็นนักพูดมืออาชีพ
by ครูเงาะ รสสุคนธ์ | 7 ตุลาคม 2563
พูดแล้วเสียงสั่น เสียงแข็ง เบาไป ดังไป ไม่กล้ามองตาคน ตาล่อกแล่ก วันนี้เรามาคุยกันเรื่องวิธีแก้สารพันปัญหาการพูด
ทำไมต้องพัฒนาการพูด?
เพราะการพูดมันเป็นคีย์สำคัญในชีวิตเรา พูดได้ กับ พูดดี ไม่เหมือนกัน บางทีเรามีเรื่องในหัว แต่ไม่สามารถถ่ายทอดออกไปได้ หรือถ่ายทอดออกไปได้ แต่สาร/ข้อความ ส่งไปไม่ถึงหัวใจคนฟัง เราปรารถนาดี ผลออกมาเป็น ลบ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่อีก
“Communication is the most important skill any leader can possess.” — Richard Brandson
“การสื่อสาร คือทักษะที่สำคัญที่สุดที่ผู้นำต้องมี” — ริชาร์ด แบรนด์สัน
.
.
.
เทคนิค 3 ใจ สู่การเป็น #นักพูดมืออาชีพ
1. หายใจ
หลายคนเวลาพูดไม่หายใจ เกิดจากจิตใต้สำนึก ที่รู้สึก กลัว ร่างกายมนุษย์โดยธรรมชาติ เวลากลัวมันจะ กักลม เพราะมันกลัวตาย ตามสัญชาตญาณเอาตัวรอดของสัตว์
ทีนี้ การขึ้นพูดบนเวที มันไม่มีการตายเกิดขึ้น แต่สมองมนุษย์มันบอกตัวเองไปแล้วว่า “การขึ้นเวทีมันน่ากลัว” บางคนถ้าให้เลือกระหว่าง เจอเสือ กับ ขึ้นเวที อาจจะเลือกไปเจอเสือมากกว่าด้วยซ้ำ
แล้วตอนขึ้นเวที อะไรที่สมองมันกลัว
กลัวการถูกปฏิเสธ
กลัวการไม่ได้รับการยอมรับ
กลัวคนนั้นคิดอย่างนี้ กลัวคนนี้ไปพูดอย่างนั้น
ต่างๆนานา
พอกลัวปุ๊บ เราจะกลั้นลมหายใจโดยอัตโนมัติ แล้วเสียงจะสะบัดสุดฤทธิ์เลย เสียงสั่นสุดฤทธิ์ ทำให้เสียงออกมาเศร้าโศก เหมือนจะร้องไห้
สาเหตุหลักเพราะเราไม่รู้วิธี “ผ่อนลมหายใจ”
เราต้องรู้ก่อนว่าเวลาพูด เราเอาลมเข้าทาง “ปาก” ไม่ใช่ทาง จมูก และเอาลมออกทาง ปาก ผ่อนออกมา พร้อมกับคำพูด และหายใจ “ระหว่างประโยค” ไม่ใช่ตอนจบประโยคอย่างเดียว
เพราะฉะนั้น เวลาตื่นเต้น ให้คุณโฟกัสเรื่องการ “หายใจ” ลดอาการกลั้นลม ความตื่นเต้นก็จะลดลง เสียงก็จะไม่สั่นเครือ
พอหายใจถูก ก็จะเริ่มโฟกัสถูกว่าเราจะพูดกับใคร ถ้าพูดกับคนทั้งห้องก็จะโฟกัสไปถึงคนปลายแถวหลังห้อง พอโฟกัสถูก เสียงเราก็จะพุ่งไปหาคนนั้น และเสียงจะมีพลังมากขึ้นตามมา
.
.
.
2. เข้าใจ
เข้าใจว่า เราจะพูดสิ่งนี้ “เพื่ออะไร”
คนที่พูดแล้วตื่นเต้น เกิดจากการที่พูดแล้วไม่มีพอยต์ หรือประเด็น แล้วตีอ้อม จบไม่ลง มันไม่จบ เพราะเราไม่จบกับตัวเองตั้งแต่ต้น เพราะเราไม่ชัดกับตัวเองว่าพูดสิ่งนี้ “เพื่ออะไร”
ยิ่ง “เพื่อ” ของเราไม่ชัด มาผสมกับความกลัวขณะพูด กลัวคนฟังไม่ชอบ การสื่อสารก็ยิ่งหลงประเด็น พังกันไปใหญ่
คำว่า “เพื่ออะไร” ในที่นี้คือ เราพูดแล้วเรา “คาดหวัง” อะไรจากคนที่ฟัง ให้เขา ได้อะไร รู้สึกอะไร หรือ ลงมือทำอะไร จับประเด็นตรงนี้ให้ได้ว่าเราต้องการจะสื่อสารอะไร
แล้วค่อยมาคิดต่อว่า จะพูดยังไงให้ได้ตรงประเด็น ตรงความคาดหวัง ที่เราตั้งใจ ด้วยการพูดแบบที่ “เข้าใจคนฟัง” เช่น คนฟังตอนนี้เขากลัวอะไร เขาอยากได้อะไร หรือเขาเป็นคนแบบไหน ชอบความกระชับรวดเร็ว หรือต้องการเหตุผลหนักแน่น หรือต้องการรักษาความสัมพันธ์ให้ดี เป็นต้น
เช่นกัน เวลาไปพรีเซนต์ ไปขาย เราต้องการให้ลูกค้า เกิดความรู้สึกอะไร เพื่อทำอะไร
เช่น เราต้องการให้ลูกค้าสนใจ —> ซื้อ
ต้องการให้ลูกค้ารู้สึกว้าว —> แล้วซื้อ
ต้องการให้ลูกค้าระมัดระวัง กลัว —> จึงซื้อสินค้านี้ไปป้องกัน
เป็นต้น
.
.
.
มาถึง “ใจ” ตัวสุดท้ายที่สำคัญที่สุด
3. ปรับใจ (ของเรา)
นี่คือต้นตอที่ทำให้เรากลั้นหายใจ ที่ทำให้เราหลงประเด็น ถ้าเราไม่ “ปรับใจของเรา”
ปรับใจ คือปรับยังไง? คือปรับมาถามตัวเองว่า
“สิ่งที่เราพูดนี้ มันมีประโยชน์อะไรกับชาวบ้านเขา”
“ฉันตั้งใจมาช่วยอะไรเขา”
“ฉันมาเพื่อที่จะมารัก ไม่ได้มาเพื่อที่จะให้เธอมารักนะ”
“ฉันมาเพื่อที่จะให้เธอได้สิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์จากฉันไป”
ลองรีเช็กตัวเอง
“ฉันต้องการทำเพื่อให้คนอื่นถูกใจฉันอยู่หรือเปล่า”
“มาเพื่อให้คนอื่นมาชอบเราอยู่หรือเปล่า”
เรากำลังมาพูดให้ฐานะคน “ขอ” ขอให้คนอื่นมาชอบ มาชื่นชม เราอยู่หรือเปล่า
ถ้ารู้สึกว่าใจคุณยังอยู่ในตำแหน่งผู้ขอ ลองปรับใจขึ้นมา พลิกขึ้นมาเป็นผู้ “ให้” มือผู้ขอกับมือผู้ให้ มือผู้ให้ สูงกว่า อย่างชัดเจน ใจคุณก็เช่นกัน พลิกขึ้นมาเป็นใจของผู้ให้ให้ได้ จิตคุณก็จะสูงขึ้นมา
“วันนี้ ฉันมาให้ประโยชน์อะไรกับเขา”
ถ้าเตรียมตัวมาดีแล้ว เตรียมการพูดมาดีแล้ว แต่ยังตื่นเต้น ขอให้คุณบอกตัวเองได้เลย
“นี่ฉันตั้งใจดีแล้วนี่นา ไม่มีอะไรที่ฉันต้องกลัว”
“ขอให้เขาได้ประโยชน์สูงสุดจากสิ่งที่ฉันเตรียมมา”
ยกเว้น ถ้าคุณไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ไม่ทำการบ้านมา แล้วขึ้นไปพูด มันแก้ตื่นเต้นไม่ได้หรอก เพราะคุณไม่ได้เอาใจให้ผู้ชม เพราะคุณไม่ได้เป็นผู้ให้ตั้งแต่ต้น ไปเป็นผู้หวัง ว่าผู้ชมจะชอบคุณแม้คุณไม่ได้ทำงาน แบบนี้มันเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะสงบได้ คุณจะตื่นกลัว
แล้วถ้าระหว่างพูด คนฟังทำหน้านิ่ว กอดอก หรือดูไม่ตั้งใจฟัง ก้มดูไอแพด นั่งหลับ จะปรับใจยังไง
เอาจริงๆ เราไม่รู้เลยว่าจริงๆเหตุผลเขาคืออะไร จริงๆเขาอาจจะติดงาน หรือง่วงมากเมื่อคืนนอนไม่พอ มีเหตุผลมากมายหลากหลายประการ ให้เราโฟกัสคนที่ฟังเราดีกว่า แต่ถ้าไม่มีคนฟังเลย เราก็แค่กลับมาดูว่าอะไรที่เราจะปรับหรือฝึกเพิ่มได้แล้วก็ฝึกไป
มันไม่สำคัญว่า ตอนนี้ คนฟังเค้าจะชอบเราหรือเปล่า มันสำคัญว่า วันนี้ “เรา” เตรียมข้อมูลที่มันมีประโยชน์กับเขาหรือเปล่า และในขณะที่พูด เราพูดด้วย “จิตเมตตา” หรือเปล่า สำคัญมากๆ จิตเรา “อยากได้จากเขา” หรือ “อยากให้เขา” จิตนี้ พลิกหมดทุกอย่างเลยค่ะ
“ฉันปรารถนาดีกับเธอสุดใจ เธอไม่ชอบฉันไม่เป็นไร
เพราะฉันชอบฉันและจิตใจของฉันมาก
วันนี้มีคนได้ประโยชน์จากฉัน ฉันก็ยินดี”
เมื่อตั้งจิตเป็น ผู้ให้ แบบนี้ ความกลัวมันก็จะหายไป จิตเราจะเป็นจิตที่ ฮึกเหิม มีพลัง
หายใจ—เข้าใจ—ปรับใจ 3 หลักนี้จะช่วยลดความตื่นกลัว และทำให้การพูดของคุณตรงประเด็น ชัดเจน มีพลัง
ขอให้ทุกคนมีความสุขในการเป็นนักพูด ไม่ว่าจะพูดกับคนที่คุณรัก หรือพูดต่อหน้าสาธารณะค่ะ