กระดุมเม็ดแรก ที่จะแก้อาการตื่นเต้น เวลาพูดในที่สาธารณะ
by ครูเงาะ รสสุคนธ์ | 27 กันยายน 2563
คุณคิดว่า คนเราเวลาไปพูดในที่สาธารณะ
ที่มันตื่นเต้น จริงๆ เราตื่นเต้นเพราะอะไร?
สิ่งที่สำคัญ เวลาที่เราพูดตัวต่อตัว เรามักจะไม่ค่อยตื่นเต้น ไม่ว่าจะกับเพื่อน กับพี่กับน้อง เพราะธรรมชาติของมนุษย์จะมีการ “ประเมิน” คู่สนทนาอยู่ในหัวตลอดเวลา เช่น “เขาชอบเราหรือเปล่า” “เขาฟังเราแล้วเข้าใจเราหรือเปล่า” “เขากำลังสนใจสิ่งที่เราพูดอยู่หรือเปล่า”
แต่พอมันเป็น Public Speaking หรือการพูดในที่สาธารณะ มันเกิดจากการที่ มีคนฟังเยอะมาก จนไม่รู้ว่าจะไปประเมินใคร เราไม่รู้เลยว่าคนนั้นคิดยังไงกับเรา คนนี้เขาชอบเราหรือเปล่า คนโน้นมองเราโง่หรือเปล่า ต่างๆนานา
พอสมองประเมินไม่ได้ตามสัญชาตญาณ เราจะ รู้สึกควบคุมอะไรไม่ได้ แล้วอาการตื่นตระหนกก็ตามมา
.
.
.
ทีนี้ คนส่วนใหญ่ต้องการการแก้แบบ “บอกมาเลยค่ะ หนูต้องพูดยังไง ต้องทำยังไง หายใจยังไง วางมือตรงไหน จะหายตื่นเต้น”
เหล่านี้ล้วนเป็นแค่วิธีปลายทาง แต่ วิธีแก้แบบเบ็ดเสร็จ คือ เราต้องเปลี่ยนตั้งแต่ “กระดุมเม็ดแรก” ถ้าเม็ดแรกติดผิด มันผิดหมดเลย
กระดุมเม็ดแรก ของการขึ้นไปพูดแล้วไม่ตื่นเต้น คือกระดุมของการสั่งสมองว่า เราจะขึ้นไป “ให้” ไม่ใช่ไป “ขอ”
คนส่วนใหญ่ที่คิดประเมินคนนั้นคนนี้ว่า เขาจะคิดยังไง เขาจะไม่ชอบเราหรือเปล่า มันคือ “กลไกการปกป้องตัวเอง” (Self-defense Mechanism)
พอเรามีความรู้สึกว่า “กลัวคนไม่รักเรา” “กลัวเราดีไม่พอ” “กลัวเราเป็นตัวตลก” “กลัวเราไปเด๋ออยู่บนเวที” นั่นแปลว่าเราต้องการอะไร?
“กลัวเด๋อ” —แปลว่าเราต้องการ—> “ดูเจ๋ง”
“กลัวเป็นตัวตลก” —แปลว่าเราต้องการ—> “ดูน่าเชื่อถือ”
“กลัวเขาไม่ชอบเรา” —แปลว่าเราต้องการ—> “ให้เขาชอบเรา”
“กลัวพูดผิด” —แปลว่าเราต้องการ—> “เป็นคนถูก”
จากใคร? จาก “คนอื่น”
เราต้องการความคิดเห็นของ “คนอื่น” มายืนยันความ “เจ๋ง” หรือ “ไม่เจ๋ง” ของเรา …มันผิดตั้งแต่ต้นเลย
กลับกัน ถ้าสมมติเราขึ้นไปพูดด้วยจิตของการเป็น “ผู้ให้” ล่ะ
แทนที่จะคิดว่า “วันนี้เราจะมารายงาน” “วันนี้จะ ต้อง เอางานไปนำเสนอหัวหน้า”
แทนที่จะไปขอว่า “เขาจะ Approve เราไหม” “เขาจะอนุมัติเราหรือเปล่า” ก็ไม่รู้
แทนที่จะไปขอให้เขาชมว่า เราเก่ง เราเจ๋ง อย่างนั้นอย่างนี้
ลองพลิกมือจาก “ผู้ขอ” ขึ้นเป็น “ผู้ให้” ดูสักนิด มือผู้ขอกับมือผู้ให้มันสูงกันคนละระดับ ใจคน ก็เช่นกัน
เมื่อไหร่ที่เราทำตัวเป็น “ผู้ขอ” ขอการอนุมัติจากคนอื่น เราจะรู้สึก ตัวเล็ก ตลอดเวลา เจ้านายเราก็จะเป็นคนที่ ตัวใหญ่กว่าเรา เสมอ พอเราไปหาเจ้านายในแบบตัวเล็ก “เราทำถูกไหมนะ” “เขาจะชอบเราไหมนะ” ก็จะตื่นเต้น พรีเซนต์ผิดๆถูกๆ ลืมเนื้อหา ลืมบท ต่างๆมากมาย
แต่ถ้าเราไปแบบ “ผู้ให้” ล่ะ
ไปแบบผู้ให้เป็นอย่างไร? เราก็จะเตรียมตัวไปแบบเต็ม 100% คนที่อยากไป “ให้” คนอื่น จะเตรียมตัวไปแบบ 50-50 เหรอ อันนั้นไม่ใช่ เพราะมันแสดงว่าเราไม่รับผิดชอบคนฟังของเรา ไม่ได้ตั้งใจจะให้เขาจริงๆ ถูกไหม
แต่ถ้าเรา “รัก” คนฟังของเราก่อน
เราจะเตรียมตัวไปก่อนแล้วว่า ฉันอยากให้เขา “ได้” อะไร
เช่น ตอนนั้นครูเคยไปพูดให้กับคนฟังประมาณ 3,000 คน เวทีใหญ่มาก จัดแสงสี มีคนดูรอบ 4 ด้าน คนเยอะมาก ครูประเมินไม่ได้หรอกว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบครู ใครจะเฉยๆ กลางๆ บวกบ้าง ลบบ้าง ตอนนั้นครูไม่สนใจเลยค่ะ ครูคิดอย่างเดียวเลย คือ บอกตัวเองว่า
“วันนี้ สิ่งที่ฉันรู้ ฉันมี ฉันเป็น ฉันสามารถ ฉันจะมาแชร์ให้กับคนเหล่านี้ที่นั่งอยู่ตรงนี้ ให้เขาได้รู้ ได้มี ได้เป็น ได้สามารถ ได้เอาไปปรับใช้ในชีวิตได้จริง ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น”
เช่นถ้าครูเงาะไปสอนเรื่องการพูด ก็
“ขอให้สิ่งที่จะพูดนี้ ไปช่วยให้การพูดของเขา ดีขึ้น ในชีวิตของเขา กับคู่ครองคนรัก กับครอบครัวของเขา”
เป็นต้น
ตั้งจิตให้ถูกต้อง ตั้งแต่ก่อนขึ้นพูด
ฉันมาให้ เขาไม่ชอบฉันไม่เป็นไร เพราะฉันรักฉันและฉันก็ปรารถนาดีต่อเขา ถ้าผิดพลาดก็อ่อนโยนต่อตัวเองบ้าง เท่านี้ใจเราก็จะใหญ่ขึ้น ที่เหลือก็แค่ใส่ให้เต็มให้เค้าได้สิ่งที่ดีที่สุดในขณะที่ได้ฟังสิ่งที่เราตั้งใจเตรียมมาเพื่อ “เขา”
นี่คือการเอาใจเราไปอยู่กับ “ผู้ฟัง” แล้วมันจะลดอาการ Self-conscious คืออาการตื่นเต้นไม่รู้ว่าจะเอามือไม้ไปอยู่ตรงไหนดี ได้อีกด้วย
ลองนำเทคนิคนี้ไปฝึกฝนลองใช้กันดูนะคะ ขอให้ทุกคน ได้ Own Your Stage ทั้งในการพรีเซนต์ การทำงาน การขาย และทุกเวทีการพูดในชีวิตของทุกคนนะคะ